ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทศบาลตำบลห้องแซง อำเภอเลิกนกทา จังหวัดยโสธร



แจ้งเรื่องร้องเรียนสายผู้บริหาร

ภารกิจผู้บริหาร

ปลัด




ปราบปรามทุจริต



ระบบจัดการเว็บไซต์

ศูนย์ดำรงธรมม

eservice

Back Office



สถิติการเข้าชม เริ่มวันที่ 19/10/2563
วันนี้
4
เมื่อวานนี้
140
เดือนนี้
2,800
เดือนที่แล้ว
2,800
ปีนี้
16,323
ปีที่แล้ว
26,145
ทั้งหมด
60,146
ไอพี ของคุณ
3.237.32.15

ประวัติบ้านห้องแซง

ประวัติบ้านห้องแซง (ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์วัดป่าจันทวนาราม)

ความเป็นมา

     บ้านห้องแซงเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นถิ่นที่มีชาวภูไทได้อาศัยอยู่อย่างคับคั่ง มีขนบธรรมเนียมและภาษาพูดแตกต่างไปจากภาษาอื่นๆ ในสมัยหนึ่งเคยเป็นชนชาติกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ได้แตกแยกกันไปทำมาหากิน ถิ่นภูไทอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่อยู่ในประเทศไทยส่วนมากอยู่ในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม เป็นพวกที่อพยพมาจากประเทศลาว ตั้งแต่ครั้งดินแดนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังเป็นอาณาเขตของประเทศลาว การอพยพลงมาครั้งนั้นมีอยู่ด้วยกันสองจำพวกคือ

     ๑. เป็นพวกที่อพยพลงมาก่อนเพื่อแสวงหาที่ทำมาหากิน

     ๒.เป็นพวกที่อพยพลงมาเพราะเกิดศึกสงครามในครั้งที่สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นเมื่อเวียงจันทร์แตกแล้วจึงได้ถอยล่นลงมา

     สำหรับชาวภูไทที่อยู่บ้านห้องแซงปัจจุบัน เป็นพวกแรกที่อพยพลงมาเพื่อแสวงหาที่ทำมาหากิน ผู้ที่ได้ให้ความรู้เรื่องนี้แก่ผู้เขียนก็คือ ตาศรี นามศร มีอายุได้ ๙๕ ปีเศษ เป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดของหมู่บ้าน (อยู่ที่บ้านโนนแดง) และอดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน

     ในสมัยที่ยังหนุ่มนั้นตาศรี นามศร เคยไปมาหาสู่ญาติที่อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางสะดวกสบายเช่นทุกวันนี้ต้องเดินเท้าเป็นเวลา ๙-๑๐ วันเต็ม จุดมุ่งหมายก็คือเมืองเซโปน และเมืองพิณ ซึ่งมีญาติพี่น้องของชาวบ้านห้องแซงอยู่ที่นั่นเป็นจำนวนมาก ในสมัยคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวทุกวันนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่ความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สะลายไปหมดสิ้นแล้วเนื่องจากการติดต่อไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน จึงเป็นเสมือนหนึ่งไม่ใช่ญาติพี่น้อง

     นอกจากนี้ตาศรี นามศร ยังได้บรรยายถึงภูมิประเทศก่อนที่จะกลายมาเป็นท้องทุ่งที่กว้างใหญ่ และบ้านเรือนที่ให้ความอบอุ่นรวมกันอยู่อย่างทุกวันนี้ว่า เป็นภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ที่ห่างไกลความเจริญมาก แทบจะหาคนผู้อยู่อาศัยในบริเวณนี้ไม่ได้เลย จะมีอยู่บ้างก็กลุ่มเล็กๆ ที่ห่างไกลกันมาก ที่ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติที่ห่างไกลความเจริญ มีแต่สิ่งธรรมชาติที่ไม่มีใครสร้างสรรค์ มองเห็นแต่หมอก ภูเขาสูงอันสลับซับซ้อนเรียงราวกันอยู่ทั่วไป และส่วนที่ต่ำลงไปจากหุบเขานั้นก็ถูกปกคลุมไปด้วยไม้พันธุ์นานาชนิด เต็มไปด้วยไม้น้อยใหญ่ที่เบียดเสียดกันขึ้น ทำให้เป็นป่าดงที่หนาทึบปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม ๆ ดอนๆ ต่ำบ้าง สูงบ้าง ในส่วนที่ราบก็เต็มไปด้วยไม้เล็กและไม้ใหญ่ปะปนกันไป แลดูทำให้เห็นเป็นป่าโปร่งบ้าง ป่าแถบนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด อีกทั้งเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่าซึ่งมีอยู่มากมาย แม้กระทั่งสัตว์ใหญ่ซึ่งปัจจุบันนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

     ด้วยเหตุที่มีสัตว์ป่าจำนวนมากมายนี้เองจึงมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นถิ่นที่รู้จักกันดีของบรรดาพรานป่าทั้งหลาย และบริเวณที่มีสัตว์ป่าชุกชุมนั้นมีอยู่ป่าหนึ่งที่พรานป่าเรียกกันว่า ป่าแซง และป่าแห่งนี้เป็นจุดหมายของพรานหมา พรานเขียว และพรานรัง ในหมู่พรานทั้งสามนี้ก็มีพรานหมาเป็นหัวหน้า เดินทางมาจากทิศเหนือ หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ภูเขียว ภูเวียง พรานทั้งสามได้ข่าวเล่าลือกันว่ามีแรดใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ทางป่าแซง เป็นแรดที่มีลักษณะพิเศษคือ นอก่าน (เขาลายเป็นปล้อง) และไม่เคยมีพรานคนใดล่ามันได้เลย นอก่าน ของแรดตัวนี้ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของคนสมัยนั้น ถ้าหากใครได้มาไว้แล้วก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนด้วย

     เมื่อพรานทั้งสามได้เดินทางมาถึงป่าแซงแห่งนั้นแล้วก็ได้พบกับแรดตัวนั้นกำลังแทะเล็มกิน ดินโป่ง (เป็นภาษาพื้นบ้านเขาเรียกกัน) เป็นดินที่มีลักษณะสีแดงคล้ายดินเหนียวแต่มีรสชาติเค็ม วัว ควาย และแรดป่า ชอบกินกันอยู่ที่นั่น จึงได้ประจักษ์แก่ตาตนเองว่าเป็นแรดประหลาดเพราะมีรูปร่างใหญ่น่ากลัว สมกับคำเล่าลือของพรานอื่นๆ แต่พรานหมาเป็นผู้มีความชำนาญในการล่าสัตว์ และเก่งทั้งด้านคาถาอาคม เป็นพรานที่มีชื่อเสียงโด่งดังในบรรดาพรานป่าทั้งหลาย ก่อนจะยิงพรานหมาได้ทำพิธียกมือขึ้นเหนือหัว ตั้งคำอธิฐานว่าคาถาอาคม จึงได้ลงมือยิงแรดตัวนั้นได้สำเร็จ

     เมื่อพรานทั้งสามล่าแรดตัวนั้นได้สำเร็จตามความมุ่งหมายแล้ว ยังได้เดินทางไปยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ที่เมืองเซโปน เมื่อเดินทางไปถึงเมืองเซโปนแล้ว ก็ได้ไต่ถามถึงเรื่องราวสารทุกข์สุขดิบตามอัธยาศัยกับตาเพศรีโยธา และตาไซสุเล็น

     ตาเพศรีโยธา ก็ถามถึงแหล่งที่จะไปทำมาหากินที่เหมาะสม พอที่จะอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ เนื่องจากอยู่ที่เซโปนการเป็นอยู่ลำบากยากแค้น การทำไร่นาก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร ในช่วงระยะนั้นชาวเซโปนซึ่งมี ตาเพศรีโยธา เป็นหัวหน้าก็คิดที่จะย้ายไปอยู่ที่บ้านน้ำปลีก และบ้านเชียงเพ็งอยู่แล้ว

     พรานทั้งสามจึงได้แนะนำและเล่าถึงลักษณะของภูมิประเทศแถบบริเวณป่าแซงให้ฟังจนเป็นที่พอใจ ต่อจากนั้นตาเพศรีโยธา และตาไซสุเล็น ก็ได้ไปยังบริเวณดังกล่าวนั้นเพื่อสำรวจดูที่ทางตามคำบอกเล่าของพรานทั้งสาม

     ก่อนที่ตาเพศรีโยธา และตาไซสุเล็นจะกลับไปยังเมืองเซโปนนั้น ยังได้เดินทางไปยังบ้านน้ำปลีก และบ้านเชียงเพ็ง (ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตอำนาจเจริญ) เพื่อไปบอกกล่าวชักชวนพี่น้องชาวเซโปน และชาวเมืองพิณ ที่ได้อพยพไปอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว แต่ในครั้งนั้นก็ยังไม่มีใครคิดจะโยกย้าย เพราะผู้ที่มีที่ทำมาหากินอยู่แล้วก็มี

     อีกประการหนึ่งซึ่งที่ที่จะไปนั้นยังเป็นป่าดงดิบ อีกทั้งต้องเจอกับอันตรายในการเดินทาง และอุปสรรคอื่นๆ อีกมากมาย เส้นทางที่จะไปก็ยังไม่มีต้องอาศัยการสังเกตจากธรรมชาติ ผู้ที่เคยไปแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถไปได้ถูก เมื่อตาเพศรีโยธา และตาไซสุเล็น จึงได้ตัดสินใจพาลูกบ้านอพยพไปอยู่ที่บ้านน้ำปลีกดังที่เคยได้ตั้งใจกันไว้แล้วตั้งแต่แรก อยู่ที่บ้านน้ำปลีกอีกไม่นานความคิดเก่าๆ ของตาเพศรีโยธาที่จะไปอยู่ทางที่พรานป่าแนะนำให้นั้นก็ยังไมหมดไป และโดยที่อยากอยู่กินเป็นอิสระในกลุ่มชนของตน จึงได้ชักชวนลูกบ้านที่สมัครใจที่จะไปหาที่แห่งใหม่กับตนอีกครั้ง

     เมื่อทุกคนตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จึงได้อพยพจากบ้านน้ำปลีก ทุกคนตั้งความหวังที่จะได้ที่ทำมาหากินที่ดีเป็นของตนเอง ในการเดินทางครั้งนั้นเต็มไปด้วยความลำบาก ต้องผจญภัยกับชีวิตที่มีความหวังอันเลื่อนลอยอยู่ สิ่งที่ยากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ต้องเหน็ดเหนื่อยกับสำภาระต่างๆ ที่จำเป็นที่จะต้องติดตัวไป และนอกจากนั้นก็ยังมีลูกเล็กเด็กแดง และบรรดาสัตว์เลี้ยงทั้งหลายที่จะต้องควบคุมไปด้วย

     การเดินทางจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเวลาค่ำมืดก็ต้องคลุกคลีกับการกินการนอนอยู่ในป่า อีกทั้งต้องระวังอันตรายต่างๆ ที่จะมาถึงตัวในเวลาค่ำมืดอย่างนี้เรื่อยไป อาหารที่พวกเขาเหล่านั้นได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปก็คือ เผือก มัน และกลอย ที่ใช้กินแทนข้าวจนในที่สุดการเดินทางอันยาวนานของเขาเหล่านั้นก็ได้สิ้นสุดลง

     เมื่อมาถึงเนินแห่งหนึ่งและได้พำนักอยู่ที่นั้น จนกระทั้งความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางได้หายไป ต่อมาสิ่งที่มองเห็นบริเวณนั่นก็คือ บ้าน และได้เรียกชื่อบ้านที่นั้นว่า บ้านสร้างศรีแก้ว (บ้านสร้างศรีแก้วนี้อยู่ทางทิศใต้ของบ้านห้องแซง) ปัจจุบันเป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่อาศัยยังคงเหลือแต่ร่องรอยในครั้งอดีตที่พอจะสังเกตได้เท่านั้น ห่างจากบ้านห้องแซงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร และต่อจากนั้นก็ได้มาพำนักอยู่ที่อีกแห่งหนึ่งเรียกชื่อที่แห่งนั้นว่า บ้านน้ำอ้อม (ซึ่งอยู่ทางทิศเดียวกับบ้านสร้างศรีแก้ว ) ห่างจากบ้านห้องแซงประมาณ ๒ กิโลเมตร

     เหตุผลที่ว่าทำไม...ไม่มาตั้งบ้านเรือนที่ปาแซงเสียคราวเดียวนั้น ผู้เล่า..ไม่ได้กล่าวไว้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะการอพยพที่เลื่อนลอยยังหาหลักแหล่งที่แน่นอนไม่ได้นั่นเอง จากบ้านน้ำอ้อมนี้ก็ได้คิดโยกย้ายบ้านเรือนอีกครั้งหนึ่ง

     ทุก ๆ คนต่างก็มีความเห็นชอบว่า ที่ป่าแซงมีบริเวณกว้างขวางเป็นเนินที่ราบเรียบสะดวกในการที่จะมาตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ง่าย และอุดมสมบูรณ์มีทั้งร่องน้ำที่ไหลผ่าน พื้นดินก็ชุ่มเย็น ถ้าหากไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั้นก็คงจะดีกว่าที่เดิม เนื่องจากบ้านน้ำอ้อมเป็นเนินเล็กๆ และแห้งแล้ง คงจะไม่สะดวกในการที่จะขยายบ้านเรือนอีกต่อไป จึงได้อพยพจากบ้านน้ำอ้อมมายังป่าแซง

     ในการอพยพครั้งนั้นมาตั้งที่พักอยู่ที่ใต้ร่มข่อย ( ต้นส้มผ่อใหญ่ )เป็นแห่งแรกและได้อาศัยต้นข่อยนั้น จนกระทั่งได้สร้างเพิงเป็นที่อยู่ชั่วคราว ( ต้นข่อยต้นนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านห้องแซง )

     จากนั้นทุกคนได้จับจองเลือกสรรจัดหาที่อยู่ของตนตามใจชอบ ในครั้งนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๗-๘ ครัวเรือน แล้ว ตาเพศรีโยธา ผู้เป็นหัวหน้าอพยพได้ตั้งชื่อบ้านแห่งใหม่นี้ว่า บ้านห้องแซง เนื่องจากในบริเวณป่าแห่งนั้น มีธรรมชาติที่เต็มไปด้วยป่าแซง และร่องน้ำที่ไหลผ่านในระหว่างป่าแห่งนั้น

     หลังจากได้มีบ้านใหม่มีที่ทำมาหากินที่ดีแล้ว ตาเพศรีโยธา ก็ได้ไปชักชวนญาติพี่น้องที่อยู่บ้านน้ำปลีกอีกครั้งหนึ่ง ข่าวคราวอันนี้จึงได้แพร่ไปถึงเมืองเซโปน เมืองพิน และในหมู่ชนเดียวกันที่อยู่เมืองนคร เจ้าราชใบอิน ที่อยู่เมืองพินจึงได้เดินทางมาเยี่ยมถึงบ้านห้องแซง เพื่อที่จะมาดูที่ทางแห่งใหม่ เมื่อได้มาถึงแล้วก็เกิดมีความพอใจเป็นอย่างมาก ครั้นเมื่อเจ้าราชใบอินได้กลับไปยังเมืองพินแล้ว

     หลังจากนั้นก็มีผู้คนที่เมืองพิน และเมืองเซโปนจะติดตามมาอีกมากการอพยพของชาวเซโปนและเมืองพินมายังบ้านห้องแซง จึงได้เริ่มทยอยกันมาตามลำดับ จนกระทั่งได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนก็ขยายออกเป็นลำดับไร่นาก็กว้างขวาง ออกไปเรื่อย ๆ

     ตาศรี นามศร ยังได้บอกถึงตำแหน่งที่ตั้งบ้านเรือนของแต่ละคนในสมัยนั้น คือ

      ๑.ที่อพยพมาจาคมาจากเมืองเซโปนและบ้านน้ำปลีกตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน(คุ้มเหนือ) ได้แก่ ตาเพ พันทวัต

      ๒. พวกของเจ้าราชใบอินที่อพยพมาจากเมืองพินนั้นตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างกลางของบ้าน ( คุ้มกลาง ) ต่อมาพ่อของเจ้าราชใบอิน คือ ตาพะละคร ชาภูธร ก็ได้ติดตามมาอยู่กับเจ้าราชใบอินผู้เป็นลูกชายอีกภายหลัง

      ๓. พวกของเจ้าพะละครที่อพยพมาจากพระนครตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของบ้าน ( คุ้มเต้อ )

      เมื่อได้มาอยู่กันเป็นปึกแผ่น จำเป็นจะต้องมีผู้นำเป็นผู้ปกครองดูแลลูกบ้านตามธรรมเนียม หรือที่เรียกกันว่าผู้ใหญ่บ้าน

     ซึ่งมีชื่อตามลำดับก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

                ๑. ตาเพศรี  โยธา                     ๑๐. กำนันปุน   ห้องแซง

                ๒. ตาพะ   ละคร                       ๑๑. กำนันคำ  บุษราคัม

                ๓. กำนันสุริยะ                          ๑๒. กำนันบุญมา  คุณสุทธิ์

                ๔. ขุนเจริญ เจริญตา                  ๑๓. กำนันปัญญา ห้องแซง

                ๕. กำนันขันติยะ                       ๑๔. กำนันนเรศ   ภักดีลุน

                ๖. กำนันไชยะ  กุมาร                 ๑๕. กำนันสงคราม  ห้องแซง

                ๗. กำนันมี   ลำพรทิพย์              ๑๖. กำนันสำรวย  ห้องแซง (๒๕๕๗ - ๒ เมษายน ๒๕๖๐)

                ๘. กำนันทอง   แก้วทอง             ๑๗. กำนันจิตติภูมิ  จินนะคำ (๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐-ปัจจุบัน)

                ๙. กำนันเทียม   ละคร           

 

     ในระหว่างที่มีผู้คนเพิ่มมากขึ้นจนทำให้บ้านเรือนคับแคบ ก็ได้มีผู้คนย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่อีก ซึ่งก็มีท้าวไชยวงศา จันสุริยวงศ์ ได้แยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านใหม่ และเรียกบ้านใหม่นั้นว่า บ้านแข้ด่อน บ้านดงยาง และบ้านโนนแดง ตามลำดับ นับว่าเขาเหล่านั้นเป็นต้นตระกูล..ที่ได้ขยายอาณาเขตบริเวณบ้านให้กว้างขวาง เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีที่อยู่อาศัย มีการสร้างชนกลุ่มเล็กๆ ให้แผ่ขยายออกไปในบริเวรใกล้เคียง

     ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านเล็กๆ เหล่านั้นได้เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ มีประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น แม้ว่าแม้ว่าเขาเหล่านั้นได้แยกย้ายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ความเป็นญาติกันมาแต่ครั้งก่อน ก็มิได้เสื่อมถอยลงแต่อย่างใด กลับยิ่งเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

....สายเลือดจากบรรพบุรุษยังทำให้เขาเหล่านั้นเป็นเสมือนหนึ่งใจเดียวกัน...ดังในอดีต เมื่อเขาเหล่านั้นเดินทางไปมาหาสู่กัน จะมีคำที่ใช้ทักทายกันว่า....จะไปไหน..แล้วมักจะได้ยินกับคำว่า....ไปบ้านใหญ่...อยู่เสมอ นั่นก็คือ บ้านห้องแซง

.......สายเลือด..ในความรักเผ่าพันธุ์ แต่ครั้งบรรพชนยังคงดำเนินไป...

จากรุ่น..สู่รุ่นที่เรียกว่า ภูไทบ้านห้องแซง

ยังคงเป็นภาพที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเสมอ...